เพกา
|
ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบประกอบ 2-4 ชั้น เรียงตรงข้าม ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ยาว 60-170 ซม. รวมก้าน ใบย่อยรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5-13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 1.5 ม. ดอกเรียงแน่นที่ปลายช่อ ก้านดอกยาว 2-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 2-4 ซม. ขอบเกือบเรียบ ติดทน ดอกรูปแตร หนา สีม่วงอมน้ำตาลแดง ด้านในสีครีม โคนมีปื้นสีน้ำตาลแดง หลอดกลีบดอกช่วงโคนยาวประมาณ 1.5 ซม. ช่วงกว้างยาว 6-9 ซม. กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ พับงอกลับ เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบดอก จุดติดมีขน อับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. โคนกางออก จานฐานดอกจัก 5 พู ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรจัก 2 พูตื้น ๆ ยาวประมาณ 7 มม. ผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปแถบ แบน ยาว 40-120 ซม. เปลือกหนา เมล็ดกลม มีปีกบาง ๆ ยาว 6-7 ซม.
พบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร หรือพบปลูกตามบ้านเรือน ดอกบานกลางคืน กลิ่นแรง ยอดอ่อน ดอก และฝักอ่อนกินได้ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่างโดยเฉพาะรากและเปลือก สกุล Oroxylum Vent. เป็นสกุลที่มีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “oros” ภูเขา และ “xylon” ไม้ หมายถึงต้นไม้ที่ใบหนาแน่นที่ยอดคล้ายภูเขา |
ชื่อพ้อง Bignonia indica L. |
ชื่อสามัญ Indian trumpet flower, Midnight horror |
ชื่ออื่น กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ด๊อกก๊ะ, ดอก๊ะ, ดุแก (กะเหรี่ยง-แม๋ฮ่องสอน); เบโก (มาเลย์-นราธิวาส); เพกา (ภาคกลาง); มะลิดไม้, มะลิ้นไม้, ลิดไม้ (ภาคเหนือ); ลิ้นฟ้า (เลย); หมากลิ้นก้าง, หมากลิ้นซ้าง (เงี้ยว-ภาคเหนือ) |
ที่มา: http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?wordsLinkno=4134&words=%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%B2&typeword=word